บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม และ ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) และ ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชั่น บริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเป็นการ กำหนดทิศทาง ขั้นตอนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นบริษัทจึงจัดให้ มี มาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่นดังนี้

คำนิยาม

คอร์รัปชั่น หมายถึง การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในทุกรูปแบบรวมทั้งการปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติกรรมที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่ง หรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้ มีตำแหน่ง หรือหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ หรือรับสินบน การนำเสนอ หรือให้การให้คำมั่นว่าจะให้ การขอ หรือการเรียกร้อง ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ สิทธิ หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายต่อบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ ทั้งต่อองค์กรตนเอง หรือผู้อื่น

รูปแบบของการคอร์รัปชั่น

การช่วยเหลือทางการเมือง

หลักการ

บริษัทฯ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือสนับสนุนด้านการเงินหรือรูปแบบอื่นให้แก่พรรคการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทาง การเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ให้ความเคารพในสิทธิทางการเมืองของพนักงานในฐานะพลเมืองที่ดีตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งหรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

แนวปฏิบัติ

  1. พนักงานทุกคนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในนามตนเอง และควรใช้ความระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นการกระทำในนามของบริษัทฯ
  2. หากจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ไม่ควรกระทำการใดๆ หรือละเว้นการกระทำการใดๆที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าบริษัทฯ ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือให้การสนับสนุนการดำเนินการทางการเมือง กลุ่มแนวร่วม ทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
  3. พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ต้องไม่แต่งกายด้วยเครื่องแบบบริษัท หรือใช้สัญลักษณ์ใดที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่า บริษัทฯ ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือให้การสนับสนุนการดำเนินการทาง การเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
  4. ต้องไม่แสดงความเห็นทางการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ในสถานที่ทำงาน ในเวลาทำงาน หรือนอกเวลาที่อันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน

การบริจาคเพื่อการกุศล

หลักการ

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หากเป็นการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะตอบแทนสังคม หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตอบแทน สังคม เช่น การบริจาคเพื่อการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โรงพยาบาล ฯลฯ โดยมิได้มุ่งหวังผลทางธุรกิจเป็นการตอบแทน

แนวปฏิบัติ

  1. บริษัทฯ ต้องระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นวิธีการให้สินบน
  2. ในการบริจาคเพื่อการกุศลจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมาย
  3. การบริจาคเพื่อการกุศล ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีกิจกรรมตามโครงการเพื่อการกุศลดังกล่าวจริง และมีการดำเนินการเพื่อการสนับสนุนวัตถุประสงค์ของโครงการ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวมอย่างแท้จริง
  4. การบริจาคเพื่อการกุศลนั้น ต้องพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใดคณะบุคคลใด หรือหน่วยงานใด หรือองค์กรใด
  5. การบริจาคเพื่อการกุศล ต้องได้รับการอนุมัติตามอำนาจดำเนินการของบริษัท และมีหลักฐานการใช้จ่ายที่แสดงมูลค่า เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

เงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจ

หลักการ

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้เงินสนับสนุนที่บริษัทเป็นผู้ให้การสนับสนุนนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า เครื่องหมายการค้า หรือชื่อเสียง ของบริษัท ไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง หรือเป็นสิ่งบังหน้าอันก่อให้เกิดความได้เปรียบผู้อื่น

แนวปฏิบัติ

  1. หากจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า เงินสนับสนุนมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้าเครื่องหมายการค้า หรือชื่อเสียงของบริษัทฯ
  2. การเป็นผู้ให้การสนับสนุน จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมาย
  3. การเป็นผู้ให้การสนับสนุนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัท การอนุมัติต้องเป็นไปตามอำนาจดำเนินการที่บริษัทกำหนด รวมถึงเอกสารหลักฐานประกอบต้องมีความชัดเจน สามารถตรวจสอบได้

ของกำนัล และการเลี้ยงรับรอง

หลักการ

การรับ หรือให้ของกำนัล ผลประโยชน์ต่างๆ หรือการเลี้ยงรับรองผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ต้องเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีมูลค่าเหมาะสม และไม่จูงใจในการตัดสินใจที่ไม่ชอบธรรม

แนวปฏิบัติ

  1. หากรับของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรองกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ต้องพิจารณาให้แน่ใจ สิ่งเหล่านั้นเหมาะสมกับโอกาส ประเพณี และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับต่างๆ
  2. ไม่รับ หรือให้ของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรองที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม
  3. การรับของขวัญ ของกำนัลตามประเพณีปฏิบัติที่มีมูลค่ารวมกันในแต่ละครั้งมากกว่า 3,000 บาท ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้ว และมีความเห็นว่า อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ เป็น การจูงใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม พนักงานสามารถปฏิเสธที่จะรับ หรือคืนของขวัญ ของกำนัลนั้นได้
  4. การให้ของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรองต่อคู่ค้า หรือบุคคลใดๆ ต้องมีหลักฐานการใช้จ่ายที่แสดงมูลค่าบริการ หรือการเลี้ยงรับรองนั้นเกิดขึ้นจริง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

โครงสร้างองค์กร และความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัท

    มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนในบริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น

  2. คณะกรรมการตรวจสอบ

    มีหน้าที่สอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี สอบทานรายงานการตรวจสอบการควบคุมภายใน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการควบคุมภายในของบริษัทสามารถป้องกันการต่อต้านการคอร์รัปชั่นได้อย่างสมเหตุสมผล

  3. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และบริหารความเสี่ยง

    มีหน้าที่พิจารณานโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร และพิจารณาผลการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น รวมถึงแผนการบริหารความเสี่ยงคอร์รัปชั่นเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

  4. ผู้บริหาร

    มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น และสื่อสารนโยบายให้พนักงานทุกคนรับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต่อต้านการคอร์รัปชั่น ปกป้องพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตและคอร์รัปชั่น เช่น ไม่ลดตำแหน่ง ไม่ลงโทษหรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตและคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้น จะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

  5. พนักงาน

    มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งต่าง ๆ ของบริษัทที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมทั้งจริยธรรมและจรรยาบรรณของพนักงาน รายงานเหตุการณ์ที่น่าสงสัย หรือ พฤติกรรมที่อาจเป็นการคอร์รัปชั่น ของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงาน ตลอดจนบุคคลภายนอกเช่น คู่ค้า ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามกระบวนการที่บริษัทกำหนด

แนวทางการปฏิบัติ

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโนบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ไม่ละเลย หรือเพิกเฉย หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษํทฯ โดยต้องแจ้งผู้บังคับบัญชา หรือตามช่องทางที่บริษัทฯ กำหนด และให้ความร่วมมือใน การตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับโทษตามระเบียบของบริษัทฯ หรือตามกฎหมาย ในทางกลับกัน หากพนักงานปฏิเสธการคอร์รัปชั่น บริษัทฯ จะไม่ลด ตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลในทางลบต่อผู้นั้น
  4. บริษัทฯ จะให้ความรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ ผ่านช่องทาง เช่น หลักสูตรปฐมนิเทศ การอบรมสัมนา การปิดประกาศ เป็นต้น เพื่อตระหนักถึงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น รูปแบบการ คอร์รัปชั่น การรายงาน การแจ้งเบาะแส กรณีที่พบเห็น หรือสงสัยว่ามีการคอร์รัปชั่น และบทลงโทษหากฝ่าฝืนนโยบาย
  5. บริษัทฯ จะสื่อสารนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงนโยบายการแจ้งเบาะแส ไปยังสาธารณชน ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัททุกภาคส่วน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เวปไซต์บริษัท รายงานประจำปี การประชุมที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ เป็นต้น
  6. บริษัทฯ กำหนดกระบวนการดำเนินงานและระเบียบปฏิบัติที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
    1. บริษัทฯ มีระเบียบการเบิกจ่ายเงินที่รัดกุม โดยกำหนดวงเงินตารางอำนาจอนุมัติ ระบุวัตถุประสงค์ และผู้รับต้องมีเอกสาร หลักฐานประกอบอย่างถูกต้อง และชัดเจน
    2. บริษัทฯ มีกระบวนปฏิบัติงานในการขายและการตลาดที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีการควบคุมและลดความเสี่ยงที่สำคัญ รวมทั้งมีการตรวจสอบและติดตามผลอย่าง สม่ำเสมอ
    3. บริษัทฯ มีกระบวนการปฏิบัติงานในการบริหารงานจัดซื้อ เช่น การประมูล การจัดทำสัญญา การคัดเลือกคู่ค้าที่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงศักยภาพของคู่ค้าที่เป็นปัจจุบัน เพื่อประกอบในการตัดสินใจ อัน จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยการปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อของบริษัท และมีการตรวจสอบแก้ไขที่เหมาะสม
    4. บริษัทฯ มีกระบวนการปฏิบัติงานในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล อย่างโปร่งใส และเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นในกระบวนการสรรหา หรือการคัดเลือกบุคลากร การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง และการลงโทษพนักงาน
    5. บริษัทฯ มุ่งเน้น และให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานที่มีการควบคุมภายในที่เป็นมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายงาน เพื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางใน การปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เป็นแนวทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมภายในที่ดี ทำให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ
    6. บริษัทฯ มีกระบวนการตรวจสอบภายในที่ยึดหลักการมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีการจัดทำแผนการตรวจสอบที่ประเมินจากความเสี่ยงที่สำคัญ สภาพแวดล้อมของธุรกิจและจากความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง การ ตรวจสอบภายในจึงครอบคลุมการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานตามระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถช่วยค้นหา ข้อบกพร่องและแก้ไขได้ทันเวลา ทำให้ช่วยลดช่องว่างที่อาจจะก่อให้เกิดการคอร์รัปชันได้
    7. บริษัทฯ มีระบบการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลที่พร้อมต่อการตรวจสอบเสมอ มีหลักฐานเอกสารประกอบการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนอย่างเพียงพอและครบถ้วน
    8. บริษัทฯ จัดให้มีการทบทวนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอโดยผู้รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายและนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อมาตราการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อให้ความเชื่อมั่นในความเพียงพอและความมีประสิทธิผลของมาตรการ
  7. การแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน

    บริษัทฯ มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส และข้อร้องเรียนทั้งจากภายใน และภายนอกบริษัทฯ เกี่ยวกับการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีพฤติกรรมที่อาจส่อไปทางทุจริต และบริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธ หรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่น โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนรายละเอียดตามนโยบายการแจ้งเบาะแสในองค์กร (Whistleblower Policy)

  8. บทลงโทษ

    หากพบว่ามีฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับโทษตามระเบียบของบริษัทฯ หรือตามกฎหมาย